วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558



ระบบสารสนเทศด้านการตลาด

  การตลาด (marketing) เป็นหน้าที่สำคัญทางธุรกิจ เนื่องจากหน่วยงานด้านการตลาดจะรับผิดชอบในการกระจายสินค้าและบริการไปสู่ ลูกค้า ตั้งแต่การศึกษา และวิเคราะห์ความต้องการ การวางแผนและการสร้างความต้องการ ตลอดจนส่งเสริมการขายจนกระทั้งสินค้าถึงมือลูกค้า ปกติการตัดสินใจทางการตลาดจะเกี่ยวข้องกับการจัดส่วนประสมทางการตลาด (marketing mix) หรือ ส่วนประกอบที่ทำให้การดำเนินงานทางการตลาดประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (product) ราคา (price) สถานที่ (place) และการโฆษณา (promotion) หรือที่เรียกว่า 4Ps โดยสารสนเทศที่นักการตลาดต้องการในการวิเคราะห์ วางแผน ตรวจสอบ และควบคุมให้แผนการตลาดเป็นไปตามที่ต้องการมาจากแหล่งข้อมูลดังต่อไปนี้
                1.  การปฏิบัติงาน (operations) เป็นข้อมูลที่แสดงถึงยอดขายและการดำเนินงานด้านการตลาด ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยข้อมูลการปฏิบัติงานจะเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่ช่วย ในการตรวจสอบ ควบคุม และวางแนวทางปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในอนาคต
                2.  การวิจัยตลาด (marketing research) เป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด โดยเฉพาะพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการ ของธุรกิจ โดยนักการตลาดจะทำการวิจัยบนสมมติฐานและการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ปกติข้อมูลในการวิจัยตลาดจะได้มาจากการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ และการใช้แบบสอบถาม การวิจัยตลาดช่วยผู้บริหารในการวางแผนและการตัดสินใจทางการตลาด แต่อาจมีข้อจำกัดของความถูกต้องและความน่าเชื่อถือในการอธิบายพฤติกรรมของ กลุ่มเป้าหมาย
                3.  คู่แข่ง (competitor) คำกล่าวที่ว่า “รู้เขารู้เรา รอบร้อยครั้งชนะทั้งร้อยครั้ง” แสดงความสำคัญที่ธุรกิจต้องมีความเข้าใจในคู่แข่งขันทั้งด้านจำนวนและ ศักยภาพ โดยข้อมูลจากการดำเนินงาน ของคู่แข่งขันช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนการตลาดอย่างเหมาะสม ปกติข้อมูลจากคู่แข่งขันจะมีลักษณะไม่มีโครงสร้าง ไม่เป็นทางการ และมีแหล่งที่มีไม่ชัดเจน เช่น การทดลองใช้สินค้าหรือบริการ การสัมภาษณ์ลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย การติดตามข้อมูลในตลาด และข้อมูลจากสื่อสารมวลชน เป็นต้น
                4.  กลยุทธ์ขององค์การ (corporate strategy) เป็นข้อมูลสำคัญทางการตลาด เนื่องจากกลยุทธ์จะเป็นเครื่องกำหนดแนวทางปฏิบัติของธุรกิจ และเป็นฐานในการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดขององค์การ
                5.  ข้อมูลภายนอก (external data) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสหรืออุปสรรคของธุรกิจ โดยทำให้ความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการของลูกค้าขยาย หรือหดตัว ตลอดจนสร้างคู่แข่งขันใหม่หรือ เปลี่ยนขั้นตอนและรูปแบบในการดำเนินงาน
สารสนเทศด้านการตลาดอาจจะมีความแตกต่างกันตามประเภทของธุรกิจซึ่ง เราสามารถจำแนกระบบย่อยของระบบสารสนเทศด้านการตลาดได้ดังต่อไปนี้
                1.  ระบบสารสนเทศสำหรับการขาย  สามารถแบ่งออกเป็นระบบย่อย 3 ระบบดังต่อไปนี้
        ระบบสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการขาย จะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของฝ่ายขาย เพื่อให้การขายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อมูลที่ระบบต้องการจะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะทำการขาย รูปแบบ ราคา และการโฆษณาต่าง ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า นอกจากนี้อาจเกี่ยวกับช่องทางและ วิธีการขายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับ ลูกค้า ตลอดจนคู่แข่งของผลิตภัณฑ์ที่จะขายและจำหน่ายสินค้าคงคลังของบริษัท
       ระบบสารสนเทศสำหรับวิเคราะห์การขาย
จะรวบรวมสารสนเทศในเรื่องของกำไรหรือขาดทุนของผลิตภัณฑ์ ความสามารถของพนักงานขายสินค้า ยอดขายของแต่ละเขตการขาย รวมทั้งแนวโน้มการเติบโตของสินค้า ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้จากรายงานต่าง ๆ เช่น รายงานการขาย รายงานของต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบ เป็นต้น
ระบบสารสนเทศสำหรับการวิเคราะห์ลูกค้าจะช่วยในการวิเคราะห์ลูกค้าเพื่อให้ทราบถึงรูปแบบของการซื้อและ ประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ เพื่อที่ธุรกิจจะสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
                
                2.  ระบบสารสนเทศสำหรับการวิจัยตลาด สามารถแบ่งออกเป็นระบบย่อยตามหน้าที่ได้ 2 ระบบ ดังต่อไปนี้
   ระบบสารสนเทศสำหรับการวิจัยลูกค้า  การ วิจัยลูกค้าจะต่างกับการวิเคราะห์ลูกค้าตรงที่ว่าการวิจัยลูกค้าจะมีขอบเขต ของการใช้สารสนเทศกว้างกว่าการวิเคราะห์ลูกค้า โดยการวิจัยลูกค้าจะต้องการทราบสารสนเทศ ที่เกี่ยวกับลูกค้าในด้านสถานะทางการเงิน การดำเนินธุรกิจ ความพอใจ รสนิยมและพฤติกรรมการบริโภค
   ระบบสารสนเทศสำหรับการวิจัยตลาด 
การวิจัยตลาดจะให้ความสำคัญกับการหาขนาดของตลาดของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่จะนำออก จำหน่าย ซึ่งอาจครอบคลุมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลังจากนั้นก็จะกำหนดส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์เพื่อทำการวางแผน กำหนดเป้าหมาย กำหนดกลยุทธ์และวางแผนกลยุทธ์ สารสนเทศที่เป็นที่ต้องการของการวิจัยตลาดคือสภาวะและแนวโน้มทาง เศรษฐกิจ ยอดขายในอดีตของอุตสาหกรรมหรือผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในตลาด รวมทั้งสภาวะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์นี้ด้วย
                3.  ระบบสารสนเทศสำหรับการส่งเสริมการขาย  เป็น ระบบที่ให้ความสำคัญกับแผนงานทางด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขาย เพิ่มยอดขายสินค้า และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้สูงขึ้น  สารสนเทศที่เป็นที่ต้องการคือยอดขายของสินค้าทุกชนิดในบริษัท เพื่อให้รู้ว่าสินค้าใดต้องการแผนการส่งเสริมการขาย และสารสนเทศที่เกี่ยวกับผลกำไรหรือขาดทุนของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อให้ความสำคัญกับสินค้าตัวที่ทำกำไร
                4.  ระบบสารสนเทศสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ  เป็นระบบสารสนเทศที่วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ลักษณะและความต้องการของลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าแต่ยังไม่มีตลาด โดยสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการของระบบได้แก่ ยอดขายของผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในอดีต  เพื่อให้ทราบถึงขนาดและลักษณะของตลาด และการประมาณการต้นทุน เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าสมควรที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่
                5.  ระบบสารสนเทศสำหรับพยากรณ์การขาย  เป็นระบบที่ใช้ในการวางแผนการขาย แผนการทำกำไรจากสินค้าหรือบริการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของบริษัท ซึ่งจะส่งผลไปถึงการวางแผนการผลิต การวางกำลังคน และงบประมาณที่จะใช้เกี่ยวกับการขาย โดยสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการคือ ยอดขายในอดีต สถานะของคู่แข่งขัน สภาวการณ์ของตลาด และแผนการโฆษณา

                6.  ระบบสารสนเทศสำหรับการวางแผนกำไร  เป็น ระบบสารสนเทศที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนทำกำไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของ ธุรกิจ  โดยสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการคือสารสนเทศจากการวิจัยตลาด ยอดขายในอดีต  สารสนเทศของคู่แข่งขัน การพยากรณ์การขาย และการโฆษณา
                7.  ระบบสารสนเทศสำหรับการกำหนดราคา  การกำหนดราคาของสินค้านับว่าเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งทางการตลาด เพราะต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า คู่แข่งขัน กำลังซื้อของลูกค้า โดยปกติแล้วราคาสินค้าจะตั้งจากราคาต้นทุนรวมกับร้อยละของกำไรที่ต้องการ โดยสารสนเทศที่ต้องการได้แก่ ตัวเลขกำไรของผลิตภัณฑ์ในอดีต เพื่อทำการปรับปรุงราคาให้ได้สัดส่วนของกำไรคงเดิม ในกรณีที่ต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลง
                8.  ระบบสารสนเทศสำหรับการควบคุมค่าใช้จ่าย  บุคคลที่เป็นผู้ควบคุมค่าใช้จ่ายสามารถควบคุมได้โดยดูจากรายงานของผลการทำ กำไร กับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงหรือสาเหตุของการคลาดเคลื่อนของค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขายรวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เงินเดือน ค่าโฆษณา ค่าส่วนแบ่งการขาย เป็นต้น
                ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีส่วนสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการขยายโอกาสและเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้า ซึ่งทำให้นักการตลาดสมัยใหม่ต้องสามารถประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อก่อ ให้เกิดโอกาสและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันแก่องค์การ ซึ่งจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพของตน
ระบบสารสนเทศด้านการผลิตและการดำเนินงาน 
                การผลิต (production) เป็นกระบวนการแปรรูปทรัพยากรการผลิต เช่น วัตถุดิบ แรงงาน และ พลังงาน ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมในการจัดจำหน่ายแก่ลูกค้า โดยผู้ผลิตต้องพยากรณ์ปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า โดยไม่ให้มีจำนวนมากหรือน้อยจนเกินไป ตลอดจนควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยมีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ปัจจุบันการขยายตัวของธุรกิจจากการผลิตเข้าสู่สังคมบริการ ทำให้มีการประยุกต์หลักการของการจัดการผลิตกับงานด้านบริการ ซึ่งเราจะเรียกการผลิตในหน่วยบริการว่า “การดำเนินงาน (operations)” โดยที่แหล่งข้อมูลในการผลิตและการดำเนินงานขององค์การมีดังต่อไปนี้
                1.  ข้อมูลการผลิต/การดำเนินงาน (production/operations data)  เป็นข้อมูลจากกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ ซึ่งจะแสดงภาพปัจจุบันของระบบการผลิตของธุรกิจว่ามีประสทธิภาพมากน้อยเพียง ใด และมีปัญหาอย่างไรในการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนในการแก้ปัญหาและการพัฒนาประสิทธิภาพการ ดำเนินงานในอนาคต
                2.  ข้อมูลสินค้าคงคลัง (inventory data) บันทึกปริมาณวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปที่เก็บไว้ในโกดัง โดยผู้จัดการต้องพยายามจัดให้มีสินค้าคงคลังในปริมาณไม่เกินความจำเป็นหรือ ขาดแคลนเมื่อเกิดความต้องการขึ้น
                3.  ข้อมูลจากผู้ขายวัตถุดิบ (supplier data)  เป็นข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณ คุณสมบัติ และราคาวัตถุดิบ ตลอดจนช่วงทางและต้นทุนในการลำเลียงวัตถุดิบ ปัจจุบันการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (electronic data interchange) หรือที่เรียกว่า EDI ช่วยให้การประสานงานระหว่างผู้ขายวัตถุดิบ ธุรกิจ และลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น
                4.  ข้อมูลแรงงานและบุคลากร (labor force and personnel data) ข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานในสายการผลิตและปฏิบัติการ เช่น อายุ การศึกษา และประสบการณ์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดบุคลากรให้สอดคล้องกับงาน ขณะที่ข้อมูลภายนอกเกี่ยวกับตลาดแรงงานจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนและจัดหา แรงงานทดแทน และการกำหนดอัตราค่าจ้างอย่างเหมาะสม
                5.  กลยุทธ์องค์การ (corporate strategy)  แผนกลยุทธ์ขององค์การจะเป็นแม่บทและแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์การผลิตแลการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ
                การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงานขององค์การ นอกจากจะส่งผลต่อการพัฒนาผลิตผล (productivity) ของธุรกิจ โดยเฉพาะการปฏิบัติ ตั้งแต่การตัดสินใจเกี่ยวกับการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การควบคุมสินค้าคงคลัง การวางแผนคุณภาพ การเพิ่มผลผลิต และการควบคุมต้นทุนขององค์การให้มีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้ระบบอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตแล้ว ยังส่งผลต่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงานและการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ทาง สังคมโดยทางตรงและทางอ้อม
การวางแผนความต้องการวัสดุ 
การบริหารทรัพยากรการผลิต โดยเฉพาะวัตถุดิบ (raw materials) เป็นหัวใจสำคัญของการจัดการด้านการดำเนินงานการผลิต ถ้าธุรกิจมีปริมาณวัตถุดิบมากเกินไปจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสูง แต่ถ้ามีปริมาณวัตถุดิบน้อยเกินไปก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อแผนและกระบวนการ ผลิต ตลอดจนก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ  การวางแผนความต้องการวัสดุ (material requirement planning) หรือที่เรียกว่า MRP เป็นระบบสารสนเทศที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบการผลิต  เพื่อประกอบการวางแผนความต้องการวัสดุเพื่อให้ธุรกิจสามารถจัดการวัตถุดิบ อย่างมีประสิทธิภาพ โดย MRP ให้ความสำคัญกับสิ่งต่อไปนี้
1.  ไม่เก็บวัตถุดิบเพื่อรอการใช้งานไว้นานเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและความเสี่ยงในการสูญหายหรือสูญเสีย
2.  รายงานผลการผลิตและความเสียหายที่เกิดขึ้นตามระยะเวลาที่กำหนด
3.  ควบคุมสินค้าคงคลังอย่างเป็นระบบ
4.  มีการตรวจสอบ แก้ไข และติดตามผลข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
                โดยที่ MRP  มีบทบาทต่อระบบการผลิตขององค์การตั้งแต่การจัดหาวัสดุ เพื่อทำการผลิตโดยการกำหนดปริมาณและระยะเวลาในการสั่งที่ประหยัดค่าใช้จ่าย ตลอดจนจัดเตรียมรายละเอียดของการผลิตในอนาคตซึ่งเราสามารถสรุปว่า MRP  มีข้อดีดังต่อไปนี้
1.  ลดการขาดแคลนวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิต
2.  ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาวัตถุดิบและสินค้าคงคลัง
3.  ช่วยให้บุคลากรมีเวลาในการปฏิบัติงานอื่นมากขึ้น
4.  ประหยัดแรงงาน เวลา และค่าใช้จ่ายในการติดตามวัตถุดิบ
5.  ช่วยให้องค์การสามารถปรับตัวอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
                นอกจากระบบ MRP แล้ว ได้มีผู้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการดำเนินงาน เช่น การจัดการคุณภาพโดยรวม (total quality management) หรือที่เรียกว่า TQM และการผลิตแบบทันเวลาพอดี (just-in-time production) หรือที่เรียกว่า JIT เพื่อให้ได้การผลิตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น ซึ่งต่างต้องอาศัยระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ เกี่ยวข้องกับผู้ขายวัตถุดิบ (supplier) และลูกค้าภายนอกองค์การ ตลอดจนบุคลากรต้องมีความรู้และความสามารถใน การใช้งานระบบสารสนเทศด้านการผลิตขององค์การอย่างเต็มที่

ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล
                ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล (human resource information system) หรือ HRIS หรือระบบสานสนเทศสำหรับบริหารงานบุคคล (personnel information system) หรือ PIS เป็นระบบสารสนเทศที่ถูกพัฒนาให้สนับสนุนการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่การวางแผน การจ้างงาน การพัฒนาและการฝึกอบรม ค่าจ้างเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย ช่วยให้การบริหารทรัพยากรบุคคลเกิดประสิทธิภาพ โดยที่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคลจะมีดังนี้

                1.  ข้อมูลบุคลากร  เป็นข้อมูลของสมาชิกแต่ละคนขององค์การ ซึ่งประกอบด้วยประวัติเงินเดือนและ สวัสดิการ เป็นต้น
                2.  ผังองค์การ  แสดงโครงสร้างองค์การ การจัดหน่วยงานและแผนกำลังคน ซึ่งแสดงทั้งปริมาณและการจัดสรรทรัพยากรบุคคล
                3.  ข้อมูลจากภายนอก  ระบบบริหาร ทรัพยากรบุคคลมิใช่ระบบปิดที่ควบคุมและดูแลสมาชิกภายในองค์การเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง  ซึ่งต้องการข้อมูลจากภายนอกองค์การ เช่น การสำรวจเงินเดือน อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น
                การจัดการทรัพยากรบุคคลเป็นงานสำคัญ ที่มิใช่เพียงแต่การปฏิบัติงาน ประจำวันที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลบุคลากรและค่าจ้างแรงงานเท่านั้น แต่ต้องเป็นการดำเนินงานเชิงรุก (proactive) การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงานช่วย ให้งานทรัพยากรบุคคลมีประสิทธิภาพขึ้น โดยที่การพัฒนาระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคลต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญ 5 ประการดังต่อไปนี้
                1.  ความสามารถ  (capability) หมายถึงความพร้อมขององค์การและบุคคลในการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยต้องพิจารณาความสามารถของบุคลากร 3 กลุ่มคือ     ผู้บริหารระดับสูงต้องพร้อมที่จะสนับสนุนด้านนโยบาย กำลังคน กำลังเงิน และวัสดุอุปกรณ์ในการพัฒนาระบบสานสนเทศขององค์การ
   ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ เพื่อให้การทำงานในหน่วยงานมีความคล่องตัวขึ้น
   ฝ่ายสารสนเทศที่ต้องทำความเข้าใจและออกแบบระบบงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ในแต่ละกลุ่ม
                2.  การควบคุม (control) การพัฒนา HRIS จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสารสนเทศโดยเฉพาะการเข้า ถึงและความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลด้านทรัยพากรบุคคลจะเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของสมาชิก แต่ละคน ซึ่งจะมีผลต่อชื่อเสียงและผลได้-ผลเสียของบุคคล จึงต้องมีการจัดระบบการเข้าถึงและจัดการข้อมูลที่รัดกุม  โดยอนุญาตให้ผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบในแต่ละหน่วยงานสามารถ เข้าถึงและปรับปรุงสารสนเทศในส่วนงานของตนเท่านั้น
                3.  ต้นทุน (cost) ปกติการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคลจะมีต้นทุนที่สูง ขณะเดียวกันก็จะไม่เห็นผลตอบแทนที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงขององค์การทั้งในด้านการขยายตัวและหดตัวซึ่งจะมีผลกระทบต่อ บุคลากร ดังนั้นฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคลสมควรมีข้อมูลที่เหมาะสมในการตัดสินใจ เป็นต้น ขณะเดียวกัน การลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งฝ่ายบริหารสมควรต้องพิจารณาผลตอบแทนที่ได้รับจากการพัฒนาระบบว่าคุ้มค่า กับต้นทุนที่ใช้ไปหรือไม่
                4.  การติดต่อสื่อสาร (communication) หมายถึงการพัฒนาระบบสารสนเทศต้องศึกษาการไหลเวียนของสารสนเทศ (inforamtion flow) ภายในองค์การและความสัมพันธ์ระหว่างองค์การกับสภาพแวดล้อมภายนอก ตลอดจนเตรียมการในการสื่อสารข้อมูล เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ เกิดความเข้าใจและทัศนคติที่ดีกับการนำระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้
                5.  ความได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage) ปัจจุบันการพัฒนา HRIS ไม่เพียงแต่ช่วยให้การดำเนินงานขององค์การมีประสิทธิภาพขึ้น  แต่ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างศักยภาพและความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ ธุรกิจ
                ปัจจุบันเราต่างยอมรับว่า คนเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ แต่ทรัพยากรบุคคลเป็นทรัพยากรมีค่าใช้จ่ายสูงที่ธุรกิจ ต้องรับภาระทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เงินเดือน สวัสดิการ และข้อมูลผูกพันในสัญญาจ้างงาน HRIS เป็นระบบสารสนเทศที่นำเสนอข้อมูลการตัดสินใจซึ่งเกิดประโยชน์แก่องค์การและ สมาชิกแต่ละคน ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับงานด้านทรัพยากรบุคคลอย่าง ถูกต้องขึ้น
ที่มา:https://blog.eduzones.com/poonpreecha/81752



ความหมายและความสำคัญของการตลาด




ลักษณะทั่วไปของการตลาด


ความหมายและความสำคัญของการตลาด

การตลาดคือ การกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ในธุรกิจที่ทำให้เกิดการนำสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการนั้น ๆ โดยได้รับความพอใจ ขณะเดียวกันก็บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการ


บทบาทและหลักความสำคัญของการตลาด

                การตลาดเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกิจการ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน การดำเนินการทางด้านการตลาดจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งในแง่ของทั้งในแง่ของผลดี หรือผลประโยชน์ที่จะได้รับ และผลกระทบด้านผลเสียทั้งภายในและภายนอกประเทศซึ่งจำแนกความสำคัญของการตลาดได้ดังต่อไปนี้
1. ความสำคัญของการตลาดที่มีต่อสังคมและบุคคล การตลาดมีความสำคัญที่มีต่อสังคมและบุคคลดังต่อไปนี้
1 .1 การตลาดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อของบุคคล
1.2    การตลาดช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาการในสังคมให้สูงขึ้น
1.3  การตลาดทำให้เกิดงานอาชีพต่าง ๆ แก่บุคคลเพิ่มมากขึ้น
2. ความสำคัญของการตลาดที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ การตลาดทำให้เกิดการซื้อขายสะดวก รวดเร็ว ผู้ซื้อผู้ขายติดต่อสัมพันธกันได้ตลอดเวลา การปฏิบัติต่าง ๆ ทางการตลาดก็มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมากมายดังนี้
2.1    การตลาดช่วยให้ประชาการมีรายได้สูงขึ้น
2.2    การตลาดทำให้เกิดการหมุนเวียนของปัจจัยการผลิต
2.3    การตลาดช่วยสร้างความต้องการในสินค้าและบริการ
2.4    การตลาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

แนวความคิดทางการตลาด

                นักการตลาดมีแนวความคิดทางการตลาดที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อการกำหนดแผนการตลาดและบริการลูกค้าที่แตกต่างกันดังนี้
1.       แนวความคิดเกี่ยวกับการผลิต  (The Production Concept)
2.       แนวความคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (The Product Concept)
3.       แนวความคิดเกี่ยวกับการขาย (The Selling Concept)
4.       แนวความคิดเกี่ยวกับการตลาด (The Marketing Concept)
5.       แนวความคิดเกี่ยวกับการตลาดเพื่อสังคม (The Societal Marketing Concept)
6.       แนวความคิดมุ่งการตลาดเชิงยุทธ์ (The Strategic Marketing Concept)

เพื่อให้การดำเนินงานทางการตลาดให้เกิดประสิทธิภาพ นักการตลาดจะต้องกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งประกอบด้วย กำหนดตลาดเป้าหมาย และกำหนดส่วนประสมทางการตลาด ที่เหมาะสมกับตลาดเป้าหมาย เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดเป้าหมาย ให้ได้รับความพอใจสูงสุดดังนี้
1. กำหนดตลาดเป้าหมาย คือการกำหนดกลุ่มลูกค้า หรือตลาด ซึ่งสามารถแบ่งได้ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1.1    บุคคลธรรมดาในตลาดผู้บริโภค
1.2    ผู้ที่ซื้อเป็นสถาบันหรือองค์กรในอุตสาหกรรม
2. กำหนดส่วนผสมทางการตลาด ส่วนประสมทางการตลาดประกอบด้วย องค์ประกอบดังต่อไปนี้
2.1    ผลิตภัณฑ์ (Product)
2.2    ราคา (Price)
2.3    การจัดจำหน่าย (Place)
2.4    การส่งเสริมการขาย (Promotion

ระบบย่อยของสารสนเทศการตลาด



แนวคิดและความหมาย
                Laudon and Laudon ได้ให้นิยามไว้ว่า ระบบสารสนเทศทางการตลาด หมายถึง ระบบที่ใช้สนับสนุนกิจกรรมของหน้าที่งานด้านการขายและการตลาด เช่น กระระบุถึงความจำเป็นและความต้องการของลูกค้า การวางแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสนองตอบความจำเป็นและความต้องการนั้น อีกทั้งยังมีการนำระบบสารสนเทศด้านการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) มาใช้เพื่อการติดต่อประสานงานที่ดีกับลูกค้า สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว
                คอตเลอร์ ได้ให้นิยามไว้ว่า ระบบสารสนเทศทางการตลาด หมายถึง ระบบที่ประกอบด้วยคน เครื่องมืออุปกรณ์และกระบวนการเก็บรวบรวม จำแนกแยกประเภท วิเคราะห์ประเมิน ตลอดจนการแจกจ่ายสารสนเทศที่ถูกต้องแม่นยำ ทันเวลาและตรงตามความต้องการ มีระบบย่อย ดังนี้
                1. ระบบระเบียนข้อมูลในกิจการ
                2. ระบบอัจฉริยะทางการตลาด
                3. ระบบวิจัยการตลาด
                4. ระบบสนับสนุนการตัดสินใจทางการตลาด
                5. ระบบพยากรณ์ยอดขาย
หลักการตลาด
1. แนวคิดและความหมาย
               คอตเลอร์ และอาร์มสตรอง ได้ให้นิยามว่า การตลาด หมายถึง กระบวนการทางสังคมและการจัดการที่มุ่งสนองถึงความจำเป็น และความต้องการให้กับบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ โดยอาศัยการสร้างสรรค์ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนคุณค่าและผลิตภัณฑ์ให้กับผู้อื่น
                สรุปได้ว่า ปัจจุบันองค์การธุรกิจมีการใช้ปรัชญาทางการตลาด 2 แนวทาง คือ ปรัชญาด้านการตลาดและปรัชญาด้านการตลาดเพื่อสังคม ซึ่งประกอบด้วยหลักการ 3 ข้อ ดังนี้
                1. จะต้องมีการตอบสนอง และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า
                2. จะต้องมีการบูรณาการและความร่วมมือของทุกฝ่ายในองค์การ
                3. จะต้องมีการมุ่งเน้นไปที่ผลสำเร็จในระยะยาว และการให้ความสำคัญกับการความจงรักภักดีของลูกค้าที่มีต่อองค์การ
 2. องค์ประกอบทางการตลาด
                2.1 การแลกเปลี่ยนทางการตลาด คือ การโยกย้าย หรือโอนสิ่งที่จับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้
                2.2 กลยุทธ์ทางการตลาด คือ การกำหนดตลาดเป้าหมาย และการพัฒนาส่วนประสมทางการตลาด เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าภายใต้ตลาดเป้าหมาย
                2.3 กิจกรรมทางการตลาด  คือ ต้องกระทำเพื่อการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตไปสู่ลูกค้าคนสุดท้าย
                2.4 ตำแหน่งงานทางการตลาด คือ การกำหนดตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการตลาด โดยบางตำแหน่งอาจต้องการความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
                2.5 สถาบันทางการตลาด คือ องค์การที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในกิจกรรมการตลาดเฉพาะทาง โดยองค์การเหล่านี้จะต้องเป็นผู้คอยช่วยเหลือธุรกิจด้านต่าง ๆ
3. การส่งมอบคุณค่าเพื่อลูกค้า
                3.1 การเลือกคุณค่า ในส่วนนี้ต้องทำการวิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจถึงความจำเป็นของลูกค้า
                                3.1.1 การแบ่งส่วนตลาด คือ การตัดสินใจว่าส่วนตลาดใด คือ โอกาสในการบรรลุเป้าหมาย โดยอาจใช้เกณฑ์หลายลักษณะ เช่น เกณฑ์ภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์
                                3.1.2 การกำหนดตลาดเป้าหมาย คือ ทำการประเมินความน่าสนใจของแต่ละส่วนตลาด และเลือกตลาดที่มีโอกาสสร้างคุณค่าแก่ลูกค้ามากที่สุด
                                3.1.3 การวางตำแหน่งมูลค่าตลาด คือ การจัดตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ที่มีความชัดเจนมีลักษณะเฉพาะและสร้างความพึงปรารถนาภายในจิตใจของลูกค้า
                3.2 การจัดหาคุณค่า ในส่วนนี้องค์การต้องอาศัยกระบวนพัฒนาส่วนประสมการตลาดในส่วนของผลิตภัณฑ์ ราคา และช่องทางการจำหน่าย
                                3.2.1 ผลิตภัณฑ์ คือ สิ่งใด ๆ ก็ตามที่เสนอให้แก่ตลาด เพื่อสร้างความสนใจ ความเป็นเจ้าของ โดยตอบสนองถึงความจำเป็นและความต้องการของลูกค้าเท่านั้น
                                3.2.2 ราคา คือ มูลค่าที่กำหนดไว้สำหรับการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ หรือจำนวนเงินที่ลูกค้าต้องจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์นั้น
                                3.2.3 การจัดจำหน่าย คือ การจัดกิจกรรม หรือวิธีการเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ไปสู่กลุ่มลูกค้าในตลาดเป้าหมาย เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการแลกเปลี่ยน
                3.3 การสื่อสารคุณค่า ในส่วนนี้องค์การ ต้องอาศัยกระบวนการพัฒนาส่วนประสมทางการตลาด ในส่วนการสื่อสารการตลาดเข้าช่วย เพื่อสื่อสารถึงข้อดีของผลิตภัณฑ์
                                3.3.1 การโฆษณา คือ ช่องทางที่ไม่ใช้บุคคล แต่ใช้สื่อโฆษณาในการแจ้งข่าวสาร
                                3.3.2 การขายโดยบุคคล คือ ช่องทางการสื่อสารซึ่งใช้พนักงานขายที่มีความรู้ในผลิตภัณฑ์เป็นอย่างดี สามารถนำเสนอจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ให้กลุ่มลูกค้าที่คาดหวังเห็นได้
                                3.3.3 การส่งเสริมการขาย คือ การใช้เครื่องมือส่งเสริมการขาย ในรูปของการลดราคา การแลกซื้อสินค้าพรีเมียม การแจกตัวอย่างสินค้า และการแถมสินค้า วิธีนี้ใช้กับผลิตภัณฑ์ความเกี่ยวเนื่องต่ำ
                                3.3.4 การประชาสัมพันธ์ คือ การสื่อสารที่สร้างความเข้าใจอันดีกับกลุ่มลูกค้า คนกลางในชิ่งทางการจัดจำหน่าย หน่วยงานของรัฐ สถาบันทางการเงิน และบริษัทตัวแทนโฆษณา
                                3.3.5 การตลาดโดยตรง ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยอาจเลือกใช้สื่อโทรศัพท์ หรือจดหมายส่งตรงถึงลูกค้า ซึ่งทำให้การซื้อขายเกิดขึ้นง่าย
                                3.3.6 การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ หรือการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร คือ การเลือกสรรเครื่องมือการสื่อสารที่เหมาะสมกับประเภทของผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนลักษณะตลาด
                                3.3.7 การสื่อสารตราสินค้า คือ การสร้างส่วนทุนตราสินค้า หรือสร้างคุณค่าของตราสินค้า ซึ่งนำไปสู่ความจงรักภักดีในตราสินค้าได้
 4. บทบาททางการตลาด
                1. ช่วยแก้ปัญหาด้านผลการดำเนินงานขององค์การที่ประสบภาวะขาดทุน โดยดำเนินโปรแกรมการตลาด เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของผลิตภัณฑ์และบริการ และอาศัยการวิจัยการตลาดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ
                2. ช่วยแก้ปัญหาด้านการครอบครองส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยมีแนวโน้มของการควบรวมบริษัทต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทั้งในส่วนธุรกิจประเภทเดียวกัน
                3. ช่วยให้พนักงานที่มีพื้นฐานและประสบการณ์ทางการตลาดประสบผลสำเร็จและมีความก้าวหน้าในอาชีพในฐานะผู้บริหารระดับสูงของกิจการ
สารสนเทศทางการตลาด
1. แนวคิดและความหมาย
                สารสนเทศทางการตลาด หมายถึง สารสนเทศที่ได้จากการประมวลผลของระบบสารสนเทศทางการตลาด ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลและสารสนเทศทั้งจากภายในและภายนอกองค์การ โดยใช้กิจกรรมสนับสนุนทางการตลาดทั้งในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่าย การตั้งราคาผลิตภัณฑ์ การตัดสินใจทางการตลาด การสื่อสารทางกาตลาด และการพยากรณ์ยอดขาย
 2. การจำแนกประเภท
                2.1 สารสนเทศเชิงปฏิบัติการ ได้รับจากการปฏิบัติงานด้านการตลาด เพื่อสร้างยอดขายของธุรกิจ
                                2.1.1 สารสนเทศด้านลูกค้า
                                2.1.2 สารสนเทศด้านการขาย
                                2.1.3 สารสนเทศด้านสินค้า
                2.2 สารสนเทศเชิงบริหาร ใช้สนับสนุนงานการบริหารการตลาด และการพัฒนาส่วนประสมทางการตลาด
                                2.2.1 สารสนเทศด้านพัฒนา
                                2.2.2 สารสนเทศด้านการสื่อสารการตลาด
                                2.2.3 สารสนเทศด้านการตั้งราคาสินค้าหรือบริการ
                                2.2.4 สารสนเทศด้านพยากรณ์ยอดขาย
                2.3 สารสนเทศภายนอกองค์การ ได้มาจากกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลจากสภาพแวดล้อมภายนอก
                                2.3.1 สารสนเทศด้านวิจัยการตลาด
                                2.3.2 สารสนเทศด้านข่าวกรองทางการตลาด
กระบวนการทางธุรกิจของระบบสารสนเทศ
                1. ระบบระเบียนข้อมูลในกิจการ คือ ระบบการบันทึกข้อมูลพื้นฐานในองค์การซึ่งนำมาใช้กับการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
                                1.1 ระบบสารสนเทศทางการขาย  คือ ระบบที่พัฒนาขึ้นด้วยความมุ่งหวังที่จะทราบยอดขายของธุรกิจในช่วงเวลาหนึ่ง โดยจะต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับสารสนเทศอื่น
                                1.2 ระบบจัดการลูกค้าสัมพันธ์  คือ ระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นใช้งานด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า เพื่อสนับสนุนงานบริการให้ลูกค้ามีความพึงพอใจสูงสุด และกลับมาซื้อสินค้าซ้ำในอนาคต
                2. ระบบอัจฉริยะทางการตลาด คือ ระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมข่าวกรองทางการตลาด ที่เกี่ยวข้องกับคู่แข่งและสภาพแวดล้อมทางการตลาด เพื่อนำมาตัดสินใจทางกลยุทธ์ และประเมินสถานการณ์ทางการแข่งขัน
                3. ระบบวิจัยการตลาด คือ ระบบที่พัฒนาขึ้น เพื่อใช้สนับสนุนด้านการวิจัยการตลาด โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ต้องการศึกษาอย่างเป็นทางการในสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง
                4. ระบบสนับสนุนการตัดสินใจทางการตลาด คอตเลอร์ ได้นิยามไว้ว่า การนำเอาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์มาใช้ในการเก็บข้อมูล วางระบบโดยการประสานกันของเครื่องมือทางสถิติ ตัวแบบและเทคนิคการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เพื่อช่วยให้องค์การสามารถเก็บรวบรวม เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานของการดำเนินการด้นการตลาดต่อไป
                                4.1 ระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ คือ ระบบซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนสภาพวัตถุดิบเป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือบริการ ที่มุ่งหวังในด้านคุณลักษณะทางกายภาพผลิตภัณฑ์
                                4.2 ระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านโฆษณาและส่งเสริมการขาย คือ ระบบที่ใช้สนับสนุนงานส่วนหนึ่งของการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ โดยธุรกิจมักใช้วิธีการโฆษณาและส่งเสริมการขายร่วมกัน เพื่อสื่อสารถึงลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของธุรกิจ
                                4.3 ระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการตั้งราคาผลิตภัณฑ์ คือ ระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนหน้าที่งานด้านการตั้งราคาผลิตภัณฑ์ โดยจำแนกเป็นการตั้งราคาปลีก ขายส่ง หรือราคาพร้อมส่วนลด ซึ่งมุ่งหวังยอดขายสูงสุด
                                4.4 ระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านพยากรณ์ยอดขาย คือ ระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อค้นหาโอกาสทางการตลาด และทำการพยากรณ์ศักยภาพในการทำกำไรของแต่ละโอกาสทางการตลาด เพื่อนำไปใช้สำหรับการจัดหาเงินสดในการลงทุนและดำเนินงาน โดยมีขั้นตอนการพยากรณ์ยอดขาย ดังนี้
                                ขั้นตอนที่ 1 ทำการวัดอุปสงค์ของตลาด
                                ขั้นตอนที่ 2 ทำการพยากรณ์ศักยภาพของตลาด
                                ขั้นตอนที่ 3 ทำการกำหนดอุปสงค์ของบริษัท
                                ขั้นตอนที่ 4 ทำการคัดเลือกระดับความพยายามทางการตลาด
                                ขั้นตอนที่ 5 ทำการพยากรณ์ยอดขาย
เทคโนโลยีทางการตลาด                                                                            
                1. โปรแกรมสำเร็จรูปด้านการตลาด คือ ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ประเภทหนึ่งที่วางขายอยู่ในตลาดซอฟต์แวร์ ถูกพัฒนาขึ้นใช้เฉพาะกับงานด้านการตลาด และจำเป็นต้องใช้ร่วมกับระบบจัดการฐานข้อมูล เพื่อสร้างระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
                                1.1 โปรแกรมสำเร็จรูปด้านการขาย ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ระบบการขายและรับชำระเงิน
                                1.2 โปรแกรมจัดการลูกค้าสัมพันธ์  คือโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าที่นำมาซึ่งการสร้างความสัมพันธ์เชิงธุรกิจกับลูกค้าในระยะยาว วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับองค์การ
                                1.3 โปรแกรมบริหารการขนส่ง คือ การจัดการขนส่งเพื่อส่งมอบสินค้าหรือบริการให้ถึงมือลูกค้า
                2. นวัตกรรมด้านร้านค้าปลีก  ปัจจุบันมีการจัดร้านค้าปลีกรูปแบบใหม่โดยมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเลือกซื้อสินค้า การตรวจสอบและรับชำระค่าสินค้า ซึ่งเป็นการลดกระบวนการซื้อและลดระยะเวลาการรอคอย
                3. หน่วยขายอัตโนมัติ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขายของพนักงานขาย โดยอยู่ในรูปแบบของการใช้มือถือเคลื่อนที่ที่สามารถใช้เข้าถึงข้อมูลในฐานข้อมูลของบริษัทได้
                4. การใช้งานอินทราเน็ต โดยใช้ในการควบคุมและติดต่อประสานงานในส่วนกิจกรรมขาย นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบคำสั่งซื้อของลูกค้า ข้อมูลการจัดส่งสินค้าและรับชำระเงินตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขายผ่านอินทราเน็ตด้วย
                5. การใช้งานอินเทอร์เน็ต ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าบนเว็บ โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ณ ที่บ้าน หรือสำนักงานของลูกค้า โดยไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานขาย
                                5.1 การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการนำเสนอสินค้าหรือบริการแก่ลูกค้าด้วยระบบดิจิทัลและยังเพิ่มเปอร์เซ็นต์การขายผลิตภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์ปกติ
                                5.2 การสื่อสารการตลาด สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากด้วยวิธีการง่าย ๆ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการสื่อสาร เพื่อใช้ส่งข่าวสารต่อลูกค้าในเชิงโต้ตอบ
                                5.3 การโฆษณาออนไลน์ เพื่อโฆษณาและขายผลิตภัณฑ์ ผลดี คือ ช่วยลดค่าใช้จ่าย
                                5.4 การอีเมล มีการรับส่งข่าวสารที่รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ
                                5.5 ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ เป็นแหล่งรวมของผู้ต้องการซื้อและผู้ต้องการขาย มีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องกัน
                                5.6 การพาณิชย์แบบเคลื่อนที่ เป็นรูปแบบหนึ่งของระบบส่งเสริมการขายของธุรกิจ ที่พกพาอุปกรณ์สื่อสารเข้ามา ณ บริเวณใกล้เคียงกับสำนักงานของบริษัท
                                5.7 การพาณิชย์แบบร่วมมือ ทันสมัยที่สุด และเปิดโอกาสให้หลายกิจกรรมทำงานร่วมกันแบบออนไลน์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ก่อให้เกิดรายได้
                6. การทำเหมืองข้อมูลทางการตลาด การทำโกดังข้อมูลร่วมกับสารสนเทศทางการตลาด จะช่วยสร้างชุดเครื่องมือปรับการปฏิบัติการดีเลิศ สำหรับงานด้านการขายและการตลาด สร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันให้ธุรกิจ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ให้แก่ธุรกิจ